วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

รายการผลงานเขียน

....................เมนูรายการงานแต่งบทร้อยกรอง ผลงานของกระผม นายขุนทอง ศรีประจง เฉพาะที่เป็น เรื่องยาว และยังเก็บสะสมไว้ไม่ได้ลบทิ้ง......อ้อ ปกติเขียนเล่นแล้วลบทิ้งไป สมัยก่อนเก็บในดิสก์ เต็มก็ลบบางส่วนออก แล้วก็ไม่ค่อยเสียดาย มาตอนหลังค่อยเสียดาย และหาที่เก็บไว้....
ขุนทอง ศรีประจง (12/6/2562)
------------------------
ลิลิตผาแดงนางไอ่ แต่งจบแล้ว  ยาว ๒๓๑ บท  ร่าย+โคลงสอง+กาพย์+โคลงสี่ เมษายน 2562
นางแตงอ่อนคำฉันท์................
ขุนทึงขุนเทืองคำฉันท์ .............
ท้าวก่ำกาดำ คำฉันท์ ...............
ปลาบู่ทอง คำฉันท์ ..................
นิทานอีสป 51-100 ..................แต่งด้วยกาพย์ยานี ๑๑ ภายหลัง ปรับเป็นกลอนหก
นิทานอีสป 1-50 ..............แต่งด้วยกาพย์ยานี ๑๑ ภายหลังปรับเป็นกลอนหก เพื่อให้อ่านเพราะยิ่งขึ้น
โตเกียวแห่งความหลัง เพจ 4 .....แต่งด้วยกลอนแปด เล่าเรื่องเดินทางไปญี่ปุ่น
โตเกียวแห่งความหลังเพจ 3 ......เน้นการดูงานการศึกษา สมัยปี 2522
โตเกียวแห่งความหลัง เพจ 2 ......อ่านดูจะรู้หลายอย่าง วันนี้ไทยเรายังพัฒนาไปไม่ถึง
โตเกียวแห่งความหลัง เพจที่ 1 ....ความยาว 72 หน้ากระดาษ A4
โคลงนิราศเมืองเหนือ เพจที่2 .......อ่านนิราศหริภุญชัยที่อาจารย์สอนใช้เป็นหนังสือบังคับเกิดแรงใจ
โคลงนิราศเมืองเหนือ เพจที่ 3.........อยากเขียนนิราศด้วยคำโคลงบ้าง
โคลงนิราศเมืองเหนือ เพจที่ 1 .......เขียนจบได้นิราศยาวพอสมควร (380 บท)
พระราชประวัติ รัชกาลที่ 9 ..............เรียบเรียงพระราชประวัติ ร. 9 เป็นคำกลอน
เซียงเหมี่ยง3 ตอน 41-60 ...............แต่งด้วยโคลงกลบทตอนละกลบท
เซียงเหมี่ยง 61-76 .........................ใช้ 76 โคลงกลบท
นางผมหอมกลกลอน ....................แต่เรื่องยาว ใช้ กลอนกลบททั้งเรื่อง
เซียงเหมี่ยง 2 ตอน 21-40 ............แต่งด้วยโคลงกลบท ตอนละ 1 กลบท
เซียงเหมี่ยงตอน1-20 ...................แต่งด้วยโคลงกลบท ตอนละ 1 กลบท
นิราศดอยอ่างขาง1 ................ไปเที่ยวกันบันทึกการไปเที่ยวด้วยกลอน
นิราศไทรโยค1 ...............นิราศคำโคลง แต่งสมัยเป็นครูมัธยม
นิราศไทรโยค 2 ...............นิราศคำโคลง แต่งสมัยเป็นครูมัธยม
เซียงเหมี่ยงคำโคลงชุดที่ 4 ...........แต่งด้วยโคลงกลบท ตอนละ 1 กลบทรวม 76 โคลงกลบท
คำโคลงสอนหลาน .......แต่ด้วยคำโคลงสี่สุภาพ เนื้อเรื่องเกี่ยวการสอนลูกหลาน 400 คำโคลง
บันทึกการอ่านพระราชประวัติ ร 9 .......บันทึกพระราชประวัติด้วยคำกลอน
ภูกระดึงรำลึก 2 ...........นิราศคำโคลงแต่งสมัยเป็นนิสิต ม.เษตรศาสตร์ บางเขน
ภูกระดึงรำลึก 1 ...........นิราศคำโคลงแต่งสมัยเป็นนิสิต ม.เษตรศาสตร์ บางเขน
ท้าวขูลูนางอั้ว 2............แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ ความยาว 205 บท
ท้าวขูลูนางอั้ว 1............แต่งด้วยโคลงสี่สุภาพ ความยาว 205 บท
นางผมหอมกลกลอน .....แต่งด้วยกลอนกลบททั้งเรื่อง 46 กลบท 300 คำกลอน
ท้าวขูลูนางอั้วคำโคลง......รวมตั้งแต่บทแรกจนบทที่ 205 เอาไปแบ่งเป็นสองเพจเรื่องเดียวกัน


........ตัวอย่างคำฉันท์ ๙๓ ชนิด เป็นการค้นแผนผังที่มีในตัวอย่างคำฉันท์ ๙๓ ชนิด แล้วแต่งทดลองดู
ว่ายากแค่ไหน ทำไมคนไม่นิยมแต่ง เพราะเห็นแต่งกันไม่กี่ชนิดเอง ได้คำตอบว่า แต่งยากเพราะบังคับ
ลหุชิด ๆ กันหลายคำ คำไทย ๆ หายาก ต้องใช้คำบาลีสันสกฤตช่วย เลยไม่นิยมแต่กัน ผมลองหมด
ทุกฉันท์แหละ อยากรู้ยากแค่ไหน ตัดเป็น ๔ เพจ ตามลิงก์ข้างล่างนั่นแหละครับ
------------------------
http://newjarinya.blogspot.com/2018/08/blog-post_17.html
http://newjarinya.blogspot.com/2018/08/21-40.html
http://newjarinya.blogspot.com/2018/08/41-65.html



http://newjarinya.blogspot.com/2018/08/66-93.html

วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

แนะนำแต่งโคลง

                                  
 แนะนำแต่งโคลง 



โดยขุนทอง ศรีประจง

........โคลงสี่สุภาพ เป็นคำร้อยกรองที่นิยมแต่งกันทั่วไป ส่วนโคลงสอง โคลงสาม และโคลงดั้น โคลงกลบทไม่ค่อยเห็นคนแต่ง แต่กระผมเอามาลองแต่งเล่นหมดทุกชนิดแล้วแหละ มันท้าทายดี คำแนะนำฉบับนี้เดิมเน้นโคลงสี่สุภาพอย่างเดียว มาวันนี้ขอเติมโคลงชนิดอื่น ๆเข้าไว้ด้วย สมกับหัวเรื่องที่บอก การแต่งโคลงเฉย ๆนี่นา เอาน่า....
ตอนที่ ๑ ความรู้พื้นฐานสำหรับการแต่งโคลง
.........ความรู้พื้นฐานของคนจะแต่งโคลงนี่มีอะไรบ้างล่ะ ความรู้ภาษาไทยสิ อันนี้แน่นอนอยู่แล้ว ไม่รู้ภาษาไทยจะแต่งโคลงได้ไง  แค่ไหนล่ะ มัธยมต้น มัธยมปลาย ป.ตรี ป.โท หรือ ป.เอก ผมแต่งโคลงได้ตอนเรียน ม. ๖ แสดงว่า จบม.ต้น ก็ควรแต่งโคลงได้แล้ว  ความจริงคนไทย เก่งภาษาไทยตั้งแต่อยู่ ประถมแล้ว  เราพูดอ่านและเขียนภาษาไทยได้กันทุกคน ไม่เหมือนอังกฤศนะ จบปริญญายังพูดสื่อสารไม่ได้เรื่องเลย พืนฐานความรู้ภาษาไทย สักระดับ ป. ๖ น่าจะพอใช้ได้สำหรับการแต่งโคลง นะเพราะจะแต่งโคลงนี่ต้องรู้จัก คำภาษาไทย คำเอก คำโท คำสุภาพ คำเป็น คำตาย  ป.๖ สอนให้ได้
............๑.๑ อ่านแผนผังบังคับ เข้าใจชัดเจน โคลงมีรูปแยยแผนผังบังคับเป็นของตัวเอง จะแต่งโคลงให้ดูเป็นโคลง ก็ต้องยึดตามแผนผังบังคับของโคลง เช่น โคลงสอง โคลงสาม และโคลงสี่ ยังมีโคลงแบบสุภาพ โคลงดั้น และโคลงกลบท ซึ่งมีแผนผังบังคับ แตกต่างกันไป จะแต่งโคลงชนิดไหน ก็ตามหาตัวอย่างแผนผังบังคับมาศึกษาดู แล้วแต่งให้ถูกต้องตามนั้น

เขียนโคลงคำแต่งต้อง....................ตรงแผน
เอกใส่ตรงดีแสน...............................ชื่นหน้า
คำโทอย่าดูแคลน............................วางที่    ถูกแฮ
โทสี่เอกเจ็ดถ้า.................................แต่งต้องลักษณ์งาม
บทหนึ่งสี่บาทสร้าง...........................สรรโคลง
สองวรรคต่อบาทโยง........................สืบสร้าง
เจ็ดคำแต่งจรรโลง............................บาทหนึ่ง แลนา
เพี่ยงที่บาทท้ายอ้าง.........................ส่งด้วยสี่คำ
โคลงที่แต่งถูกต้องฉันทลักษณ์ นิยมใช้เป็นแบบอย่างในการสอนนักเรียน

เสียงลือเสียงเล่าอ้าง.................อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใคร..........................ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล..........................ลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้า...............................อย่าได้ถามเผือฯ
...........................................................ลิลิตพระลอ

อีกบทคำโคลงที่แต่งผูกต้องฉันทลักษณ์ นิยมใช้เป็นแบบอย่างในการสอนนักเรียน
 จากมามาลิ่วล้ำ..........ลำบาง
บางยี่เรือราพลาง................พี่พร้อง
เรือแผงช่วยพานาง...........เมียงม่าน มานา
บางบ่รับคำคล้อง..............คล่าวน้ำตาคลอ 
..............................................นิราศนรินทร์

..............๑.๒ ความรู้เรื่องคำที่จำเป็นสำหรับผู้ฝึกแต่งโคลง จัดเป็นพื้นฐานสำคัญที่ควรรู้สำหรับทุกคนที่แรกเริมฝึกแต่งโคลง
.............คำ การนับคำมีกี่คำ เหมือนร้อยกรองทั่วไป คือนับเสียงที่อ่านออกเสียงแต่ละพยางค์นับ ๑ คำ เช่น โรงเรียน คำเดียว อ่านออกเสียง สองพยางค์ แต่ร้อยกรองเรานับ สองคำได้ นับคำเดียวไม่ได้ การนับคำในร้อยกรอง เสียงอ่าน เป็นตัวกำหนดว่า ควรนับพี่คำ 
..........คำสุภาพ แต่งโคลงสุภาพ มีนิยามว่า คำไม่ปรากฏรูปวรรณยุกต์ เรียกว่า คำสุภาพ  มีเครื่องหมายวรรณยุกต์ ก็เรียกตามชื่อวรรณยุกต์นั้น ๆ ไป เช่น คำเอก คำโท คำตรี  คำจัตวา
...........คำเอกโทษ คำแผลงที่แผลงเสร็จแล้วได้คำ เอก เช่น  ใบน่า (ใบหน้า)  เกี่ยวย่า(เกี่ยวหญ้า) 
...........คำโทโทษ คำแผลงที่แผลงเสร็จได้คำโท เช่น  ผี้ (พี่)  ศึกผ้าย(ศึกพ่าย)
...........คำตาย  คำผันวรรณยุกต์ออกเสียงยาก คำประสมสระสั้นในแม่ ก กา เช่น  กะ ติ รุ  รึ โละ  
คำสะกดด้วยแม่ กก กด กบ ถือเป็นคำตายด้วย เช่น นก ตก ปก ปัก รัก  รถ คด  นบ พบ คำตาย
ใช้แทนคำเอก กรณีที่หาคำเอกยาก  ปัจจุบันคงไม่ต้องใช้แล้ว ใช้คำเอก คำโท ตรง ๆ มีเหลือเฟือ
..........จำนวนคำที่ใช้ในโคลงสี่ ปกติแต่งบาทละเจ็ดคำ เว้นบาทสุดท้ายวรรคท้ายบทใช้สี่คำทำให้มีจำนวนคำบาทที่ ๔ เป็น ๙ คำ
...........คำสร้อยนิยมใช้ในบาทที่ ๑ บาทที่ ๓ และอนุโลมบาทที่ ๔ 
...........จำนวนคำ เอกเจ็ด โทสี่ โคลงที่เป็นแบบทั้งสองบท วางตำแหน่งคำเอก คำโท ถูกต้อง
............คำเอกคำโท ในบาทแรกโคลงสี่ สลับตำแหน่งกันได้
............คำสัมผัสใน นิยมทั้งสัมผัสสระ และสัมผัสพยัญชนะ
............คำสัมผัสระหว่างวรรคหน้า...หลัง ในบาท นิยมใช้สัมผัสพยัญชนะ
............๑.๒ ความสัมพันธ์ของโคลงสอง โคลงสาม และโคลงสี่ เนื่องจากฉันทลักษณ์โคลงมาจากหลักเกณฑ์เดียวกันจึงมองเห็นความคล้ายกันของคำในบาทต่าง ๆ ดังนี้
..............แบบที่ ๑  แผนผังโคลงสี่บาทแรก วรรคที่ ๑  รวมกับ บาทที่ ๔  (เติมสร้อย)
     บาทที่ ๑ =   O O O เอก โท
     บาทที่ ๔ =  O เอก  O O โท ...........เอก โท  O O (OO)
     (โยงสัมผัสท้ายวรรคแรก (คำโท) กับท้ายวรรคถัดไป(คำโท) .......ได้โคลงสอง)
 เติมข้างหน้า    O O O O O ๕ คำ .......บาทที่ ๑ =   O O O เอก โท
     บาทที่ ๔ =  O เอก  O O โท ..................เอก โท  O O (OO)
   (คำท้ายวรรคที่เติม ส่งสัมผัสคำที่สามวรรคสอง คำท้ายวรรคสองส่งให้คำท้ายวรรคสาม

-------------------------------
ฝึกเขียนโคลงแบบง่าย ๆ ตอนที่ ๒

........ผมเขียนโคลงคล่องพอ ๆกับเขียนร้อยแก้ว แต่งวันละสามสิบสี่สิบบทได้สบาย ๆ เอามาเขียนบรรยายความแบบร้อยแก้วยังได้ เดี๋ยวจะลองบรรยายหัวข้อแนะนำแต่งโคลงข้อนี้ให้ดู
๑. สะสมคำ วัตถุดิบแต่งโคลง คำเอก คำ โท คำเอกโทชิอ  คือคำจำเป็นต้องใช้  อธิบายด้วยโคลง ดังนี้
๑.๑  สะสมคำเพื่อใช้..............แต่งโคลง
วัตถุดิบผูกโยง.........................เชื่อมให้
คำโคลงอ่านจรรโลง...............เพราะยิ่ง
คำหลากหลายเลือกใช้..........แต่งได้งดงาม
๑.๒  ไวพจน์คำที่พ้อง............ความหมาย
เพียงแต่เขียนหลากหลาย......ต่างแล้ว
ดวงจันทร์นี่คำยาย..................ยังยุ่ง ดีแฮ
ศศิธรงามแผ้ว...........................ผ่องล้วนคือจันทร์
๑.๓ ดวงเดือนก็ใช่แล้ว...........ครือกัน
ยายย่าก่อนบอกฉัน...............โน่นเกิ้ง
วันเพ็ญส่งแสงพลัน..................นวลส่อง แลนา
ย่ามส่องฟ้าว้างเวิ้ง...................ข่มล้วนดวงดาว
๑.๔ ฝึกหาไวพจน์อ้าง.............สมควร
จักช่วยมีคำชวน.......................ชื่นใช้
แต่งโคลงไม่เรรวน......................หาง่าย  คำแล
คำสะสมมากได้.........................ส่งให้สะดวกสบาย
๑.๕ เขียนโคลงดังก่อสร้าง........อาคาร
วัตถุดิบผสาน.............................มากพร้อม
สะดวกก่อกิจการ.......................รีบเร่ง
เดินต่อเติมเร่งล้อม.....................ย่อแล้วเสร็จสม
๒. สะสมคำสัมผัสสระ เอาไว้ใช้เวลาต้องการสัมผัสบังคับ สัมผัสในให้ไพเราะ ดำขำ มีสี  ดูปู
วันจันทร์   วิงชิง  ตกดก  ผูกลูก เย็นเห็น  ปนคน  อุ่นรุ่น  บุญปุน  แสงแยง สนยล  เช่นเคย
บรรยายด้วยโคลง แบบนี้
๒.๑  สะสมคมคู่คล้อง..................ลำนำ
จดจ่อแต่งแปลงคำ........................คู่รู้
มากมายหน่ายนักทำ....................อยู่หู่  นักแฮ
เข็นเล่นยากหากสู้.........................ไม่ได้หวั่นกัน
๒.๒ ตอนรอนแรมแจ่มไซร์.............แสงทอง
เทียมเหลี่ยมวับลับมอง...................ขอบฟ้า
นกหคต่างห่างคลอง......................คืนชื่น   ชู้แฮ
บินว่อนร่อนมุ่งหน้า.........................ส่องห้องรวงรัง
๒.๓ จิบจิบ แต้วแล้วส่ง...................เสียงเคียง
จบพบรังยังเพียง.............................ลูกน้อย
กกกอดพรอดพร่ำเสียง..................อบอุ่น นักแฮ
ปกกกอ้อนป้อนสร้อย.....................อิ่มอ้อนจอแจ
๓. สะสมคำสัมผัสพยัญชนะ  เอาไว้ใช้เวลาเล่นสัมผัสใน โคลงที่มีสัมผัสใน สระ ยังธรรมดา ๆ
ใคร ๆก็เล่นกัน แต่สัมผัสพยัญชนะ เลานยากหน่อย ฝึกไว้ก็ดี เวลาแต่งโคลงจะได้มีใช้ไม่ขัดสน
บรรยายด้วยโคลงครับ
๓.๑  สะสมคมคู่คล้าย.....................ชิดกัน
เสียงอ่านอักษรสรรค์........................ชอบใช้
เพราะเพียงแต่งจำนรร......................พึงเพราะ  แลนา
ขันแข่งแต่งเติมให้.............................จักได้เชี่ยวชาญ
๓.๒  นมนานพึงผ่านแล้ว................เก่งกานท์
เขียนคล่องฝึกฝนนาน.....................เก่งกล้า
คิดคำลื่นไหลปาน.............................ชลาหลั่ง แลนา
เชิงเชี่ยวมิอ่อนล้า...............................แต่งแต้มคำคม
๓.๓ เสือสาายางอยู่ด้าว..................แดนดง
ไปป่าพุ่มไพรพง...................................รกล้วน
ผองภัยอยู่แผงคง................................แม่นมั่น
ยองย่างจงถี่ถ้วน.................................ก่อนก้าวกลัวภัย
ฝึกเขียนโคลงแบบง่าย ๆ  ตอนที่ ๓
๓.๑ สะสมคำเอก คำโท ชิด  เป็นคำที่บังคับใช้ บาทแรก และบาทที่ ๒ และบาทที่ ๔ ดูโคลงแผบแผนอีกที
๒๒. จากมามาลิ่วล้ำ...........ลำบาง
บางยี่เรือราพลาง.................พี่พร้อง
เรือแผงช่วยพานาง..............เมียงม่าน มานา
บางบ่รับคำคล้อง.................คล่าวน้ำตาคลอ
..............................................นิราศนรินทร์
ฝึกฝนสะสมคำเอก+คำโท ชิด จึงสำคัญต่อการแต่งโคลงไม่น้อย วิธีการใช้แบบต่อคำได้ยิ่งดี คือ มีส่งรับสัมผัสไปด้วย ตัวอย่าง
............พี่น้อง.......ก่องแก้ว......แผ่วเพี้ยง........เสี่ยงสร้าง...........ต่างเต้น............เช่นนี้...........ถี่ถ้วน
ป่วนบ้าน........ด่านหน้า........ค่าจ้าง........สร่างเศร้า..........เร่าร้อย............อ่อนอ้อน..........หย่อนให้ 
ต่อไปตาคุณฝึกบ้างละ..............................................................................................................
๓.๒  ฝึกวางคำเอกคำโทชิด ในบาทคำโคลง  แบบบาทที่ ๑
ฝึกวางคำคู่นี้....................เอกโท
ลองดูยากหน่อยต้อง.......พากเพียร  
เขียนคำโทเอกให้.............คู่กัน   
ฉันบาทแรกแต่งให้...........ดูดี
มีคำเลือกใส่ให้.................มากมาย      
หายกลัวไหลหลั่งล้น........หลั่งมา
ลองฝึกดูบ้างดิ.................................
๓.๓  ฝึกวางคำเอกคำโทชิด ในบาทคำโคลง  แบบบาทที่ ๒ ของโคลงสี่ คือคำที่หกและเจ็ดท้ายบาทยังไม่กำหนดคำที่สอง เอาเฉพาะคำเอกคำโทชิด
เดินดงหลงป่าพบ..........พี่น้อง
ลองตกปลากันรอ.........แต่เช้า
เรามองหาญาติเจอ.......พี่ป้า
พากันไปพบครู..............ที่บ้าน
นานนักจบไปครา..........ก่อนนั้น
๓.๓  ฝึกวางคำเอกคำโทชิด ในบาทคำโคลง  แบบบาทที่ ๔ ของโคลงสี่ คือคำที่หกและเจ็ดท้ายบาทสามวันฉันกับเธอ..........ต่างย้ายกันไป
..........................................พี่น้องรักกัน
..........................................มั่นได้แน่นอน
..........................................อ่อนน้อมดีงาม
.........................................ย่างย้ายจรดล
๔. ลงมือแต่งโคลง  หลังจากฝึกองค์ประกอบย่อย ๆ ของโคลงมามากพอแล้ว ถึงเวลาเริ่มเขียน
โคลงสี่จริง ๆ ได้แล้ว
ลองเขียนโคลงสี่ให้................ลองดู
ยากหน่อยนักคุณครู.............แต่งแล้ว
พอไหวน่าแบบปู.....................งุ่มง่าม
เดินเรื่อยคงมิแคล้ว................สู่ห้วยปูถึง

ปูไปคราเต่าต้อง.....................ติดตาม

คลานเล่นสง่างาม...................ใช่น้อย
คนมาหยุดรอยาม...................ปลอดโปร่ง
คลานต่อถึงเรียบร้อย...............สู่ห้วยลอยชล

เขียนให้ดูสองบทแล้ว อยากลองใหม เอาสื...............................................

๕. เทคนิคแต่งโคลง  เราอ่านโคลงแบบแผนทั้งสองบท สังเกตเป็นความไพเราะของโคลงบ้างไหม
๕.๑ โคลงเล่นสัมผัสพยัญชนะเพราะดี  
     จากมามาลิ่วล้ำ...........ลำบาง………………… ลิ่ว+ล้ำ+ลำ   เสียง ล ๓ คำ มี ล้ำ+ลำ เสียง อำ
บางยี่เรือราพลาง.............พี่พร้อง.........................  เรือ+รา เสียง ร พลาง+พี่+พร้อง เสียง พ
เรือแผงช่วยพานาง.........เมียงม่าน มานา         แผง - พา  เสียง พ  เมียง + ม่าน  เสียง ม
บางบ่รับคำคล้อง.............คล่าวน้ำตาคลอ          คล้อง + คล่าว   คล่าว....คลอ  เสียง คอ ๔ คำ
...........................................นิราศนรินทร์
เป็นโคลงที่ใช้เทคนิคสัมผัสในแบบสัมผัสพยัญชนะทุกบาท
    .เสียงลือเสียงเล่าอ้าง.....อันใด พี่เอย                เสียงลื่อ เสียงเล่า  อ้างอัน  2 กลุ่ม
เสียงย่อมยอยศใคร............ทั่วหล้า                     ย่อม+ยอ+ยศ   3  ยอ
สองเขือพี่หลับใหล..............ลืมตื่น ฤๅพี่               หลับ+ไหล+ลืม  3 ลอ
สองพี่คิดเองอ้า....................อย่าได้ถามเผือฯ       เอง+อ้า 2 ออ
                                                    ลิลิตพระลอ
๕.๒  เล่นสัมผัสพยัญชนะระหว่างวรรคหน้า-วรรคหลังในแต่ละบาท  โคลงบทจากมามาลิ่วล้ำลำบาง
นิราศนรินทร์ เล่นสัมผัสพยัญชนะระหว่างวรรคคือ  ลิ่ว+ล้ำ   พลาง+พี่   คล้อง+คล่าว  พบ ๓ บาท
ส่วนบทจากลิลิตพระลอเล่นสัมผัสในระหว่างวรรค ๒ บาท  อ่านแล้วเพราะดี คือดูดีกว่าบาทที่ไม่มี
สัมผัสระหว่างวรรค
๕.๓ โคลงอ่านไพเราะ เมื่อมีสัมผัสพยัญชนะ แต่ไม่ค่อยเห็นสัมผัสสระ ในนิราศสุพรรณ ท่านสุนทรภู่ ปรมาจารย์ สัมผัสใน มี ให้อ่านโคลงมีสัมผัสสระ ตัวอย่าง
โอ้ เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า...............ดาดาว
จรูญจรัสรัศมีพราว.......................พร่างพร้อย
ยามดึกนึกหนาวหนาว..................เขนยแนบ แอบเอย
เย็นฉ่ำน้ำค้างย้อย.........................เยือกฟ้าพาหนาว ฯ
............................................................นิราศสุพรรณ
๕.๔ โคลงแทรกเนื้อหาที่เป็นคำคมสุภาษิต ทำให้ดูดีมีสาระมากขึ้น
ใดใดในโลกล้วน...........................อนิจจัง
คงแต่บาปบุญยัง...........................เที่ยงแท้
คือเงาติดตัวตรัง............................ตรึงแน่ อยู่นา
ตามแต่บุญบาปแล้.......................ก่อเกื้อ รักษา
 ......................................................ลิลิตพระลอ
เพื่อนกิน สิ้นทรัพย์แล้ว...............แหนงหนี
หาง่าย หลายหมื่นมี.....................มากได้
เพื่อนตาย ถ่ายแทนชี-.................วาอาตม์
หากยาก ฝากผีไข้.......................ยากแท้จักหา
......................................................โคลงโลกนิติ
.........ขอสรุปแหละครับ การแต่งโคลงก็เหมือนคำร้อยกรองอื่น ๆ คนแต่งต้องรู้ภาษาไทยดีพอสมควร รักชอบการแต่งคำร้อยกรอง และฝึกเขียนบ่อย ๆ จนทำให้รู้สึกเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนเขียนร้อยแก้ว ตอนนั้นแหละเขียนร้อยกรองก็จะสนุกได้เช่นกัน  จบแหละครับ สวัสดี








วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ความเป็นมาของโคลง

ประวัติความเป็นมาของโคลง

............จากพระราชาธิบายของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สันนิษฐานว่าชาวไทยล้านนาเป็นผู้ประดิษฐ์โคลงขึ้น และชาวไทยทางใต้คือชาวกรุงศรีอยุธยารับไปดัดแปลงจนพิสดารขึ้น
..........โคลงของชาวล้านนานั้นเรียก “ครรโลง” “คะโลง” หรือ “กะโลง” [2] มีสามประเภทคือ 
1) ครรโลงสี่ห้อง 2) ครรโลงสามห้อง และ 3) ครรโลงสองห้อง กับทั้งยังมีกลวิธีแต่งที่ปลีกย่อยมากมาย
 เช่น โคลงบทหนึ่งว่า “กรนารายณ์ หมายกงรถ บทสังขยา สราสังวาล...” [3] หลักฐานที่
ว่าชาวล้านนาสนใจและนิยมแต่งโคลงมาแต่โบราณแล้วคือ จินดามณี ซึ่งกล่าวถึงโคลงลาวประเภท
ต่าง ๆ อันได้แก่
 1) พระยาลืมงายโคลงลาว 
2) อินทร์เกี้ยวกลอนโคลงลาว 
3) พวนสามชั้นโคลงลาว
 4) ไหมยุ่งพันน้ำโคลงลาว และ
 5) อินทร์หลงห้องโคลงลาว[4]
.........คำว่า “ลาว” ข้างต้น หมายถึง ชาวล้านนา ชาวอยุธยาแต่ก่อนเรียกรวมทั้งชาวล้านนาและชาวล้านช้างว่า ลาว[5]วรรณคดีของชาวไทยฝ่ายใต้เรื่องแรกที่ปรากฏโคลงคือ ลิลิตโองการแช่งน้ำ อันแต่งด้วยโคลงห้าและร่ายดั้นสลับกัน กับทั้งยังเป็นวรรณคดีเรื่องเดียวที่ปรากฏโคลงห้าอีกด้วย[6] ต่อมาปรากฏเป็นรูปโคลงสี่ดั้นใน ลิลิตยวนพ่าย โคลงสุภาพ (โคลงสอง โคลงสาม และโคลงสี่) ในลิลิตพระลอ ส่วนโคลงสองดั้นและโคลงสามดั้นเกิดขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง อย่างไรก็ตามจากหลักฐานทางวรรณกรรมอาจกล่าวได้ว่ากวีนิยมแต่งโคลงดั้นมาก่อนโคลงสุภาพ[7]
.........จากคำอธิบายที่ยกมาแสดงว่าทางเหนือมีการแต่คำร้อยกรองที่เรียก ครรโลง กะโลง มีครรโลงสี่ห้องครรโลงสามห้อง และครรโลงสองห้อง ในหนังสือจินดามณีหนังสือเรียนเก่าก่อนก็เรียกชื่อโคลงลาวไว้คือ
1) พระยาลืมงายโคลงลาว 
2) อินทร์เกี้ยวกลอนโคลงลาว 
3) พวนสามชั้นโคลงลาว 
4) ไหมยุ่งพันน้ำ
โคลงลาว และ 
5) อินทร์หลงห้องโคลงลาว คำลาวที่กลาวหมายถึงชาวเหนือ 
...........ลาวอีสานมีคำร้อยกรองเหมือนกัน "หนังสือท้าวฮุ่งท้าวเจือง" กษัตริย์ชนเผ่าไทยโบราณมีอำนาจ
ปกครองครอบคลุมมาถึงล้านนา ล้านช้าง หนังสือเล่มนี้ แต่งด้วยโคลงโบราณ ถือเป็นยุคแรกของคำโคลงก่อนจะพัฒนาเป้นโคลงไทเหนือและโคลงไทภาคกลางในเวลาต่อมา  วรรณกรรมดั้งเดิมอีสานมีมากมาย ทั้งวรรณกรรมปากเปล่าคำผญา กลอนลำ และหนังสือเล่าเรื่องชาดกต่าง ๆเช่น สังข์สินชัย จำปาสี่ต้น นางแตงอ่อน  ศรีทนมโนราห์ เขียนเป็นคำร้อยกรองอีสานทั้งสิ้น  เวลามีงานศพ จะนำไปแจกจ่ายให้อ่านสู่กันฟัง ทำนองอ่านไพเราะมาก คล้ายทำนองลำมหาชาติชาดก ร้อยกรองอีสานได้แบบอย่างจากร้อยกรองอินเดียที่ชื่อกลอนอ่านวิวิธมาลี กลอนอ่านวิชชุมาลี มีบังคับ เอก โทด้วย ดังตัวอย่าง :------

๑. กลอนอ่านวชิรปันตี
กลอนแบบนี้ใช้เฉพาะคำก่ายนอกให้ต่อเนื่องกันไปทุกๆ บาทเหมือนกาพย์ เป็นกลอนที่แต่งง่าย แต่เนื้อ
กลอนไม่ซาบซึ้งนัก เช่น เรื่องสุริยวงศ์ แตงอ่อน เป็นต้น มีข้อกำหนด ดังนี้
- คณะ กำหนดบทหนึ่งมี ๔ วรรค วรรคละ ๗ คำ อาจมีสร้อยหน้าวรรคไม่เกิน ๔ คำ หลังวรรคสุดท้าย 
๒ คำ
- สัมผัส คำสุดท้ายของวรรคสัมผัสกับคำที่ ๑ ๒ หรือ ๓ หรือสร้อยหน้าก็ได้ ของวรรคต่อไป
แผนผังกลอนอ่านวชิรปันตี
ตัวอย่าง กลอนอ่านวชิรปันตี
โลกบ่ ห่อนแต่งตั้ง          หญิงพาบสองผัว
เฮียมนี้ กลัวปาปัง           บาปเวรภายหน้า
ท่านอย่า มาชวนเข้า       อะเวจีหม้อใหญ่
ท่านอย่า มานั่งไกล้        เฮียมนี้ซิบ่ดี แท้แล้ว
                                           (ท้าวสุริยวงศ์)
๒. กลอนอ่านวิชชุมาลี
กลอนอ่านแบบนี้มีลักษณะคล้ายกับกลอนอ่านวชิรปันตีที่กล่าวมาแล้ว ต่างกันที่คำก่ายเท่านั้น มีข้อกำหนดดังนี้
- คณะ กำหนดบทหนึ่งมี ๔ วรรค วรรคละ ๗ คำ มีสร้อยหน้าวรรคไม่เกิน ๔ คำ หลังวรรค ๒ คำ เช่นเดียว
กับกลอนวชิรปันตี ต่างกันที่สัมผัสที่ซับซ้อนกว่า
- สัมผัส
  คำที่ ๗ ของวรรคที่ ๑ สัมผัสกับคำที่ ๑ ๒ ๔ หรือ ๕ ของวรรคที่ ๓ (คำสุภาพเหมือนกัน)
  คำที่ ๗ ของวรรคที่ ๒ สัมผัสกับคำที่ ๓ หรือ ๕ ของวรรคที่ ๔ (คำโทเหมือนกัน)
  คำที่ ๗ ของวรรคที่ ๓ สัมผัสกับคำที่ ๒ หรือ ๕ ของวรรคที่ ๑ ในบทถัดไป (คำเอก)
  คำที่ ๗ ของวรรคที่ ๔ สัมผัสกับคำสุภาพที่ ๑ ๒ ๓ หรือ ๕ ของวรรคที่ ๒ ในบทถัดไป
แผนผังกลอนอ่านวิชชุมาลี
ตัวอย่าง กลอนอ่านวิชชุมาลี
๑) เฮาจัก แหนเงื่อนไว้       ให้สว่าง กระสันวอน
             คำเสนหา          แห่งใด ดวงซ้อย
             คอนคอนค้ำ        คอนคอน คึดใคร่
             มัดแม่งถ้อย        ใจน้อย แม่งหาย ฯ
๒)         ใจใหญ่น้อย        น้อยใหญ่ สนเท
            คำสงสาร           หมื่นหมาย หมายหมั้น
            เสนหาห้อย         เสนโห หายาก
            อันหนึ่งนั้น          อันน้อย เนื่องใน ฯ
๓)         จักปากโอ้          โอ้อ่าว แถมถนัด
             คำใดเด             ดั่งใด ดอมดั้ง
    เมื่อนั้น กษัตรีเจ้า          เจืองลุน ฮับพาก
    ตูก็     เมี้ยนเครื่องตั้ง     ใจถ้า จอดจง
                                                (ท้าวฮุ่งท้าวเจือง)
๓. กลอนอ่านอักษรสังวาส
เป็นคำประพันธ์ที่พบมากที่สุดในวรรณกรรมไทยอีสาน มีลักษณะคล้ายกับกลอนอ่านอื่นๆ ต่างกัน
ที่กลอนอักษรสังวาสนี้ ไม่นิยมก่ายนอก แต่เน้น ก่ายใน เช่น เทียมคู่ เทียมรถ ทบคู่ เทียบคู่ แทรกคู่
 แทรกรถ ตามความเหมาะสมและ ความสามารถของกวี วรรณกรรมที่มีการ เล่นคำได้หลากหลาย
เกือบทุกวรรค ได้แก่เรื่องสังข์สินชัย ซึ่งถือว่าเป็นบทกลอนที่ไพเราะที่สุด
- คณะ กำหนดบทหนึ่งมี ๔ วรรค วรรคละ ๗ คำ มีสร้อยหน้าวรรคไม่เกิน ๔ คำ หลังวรรค ๒ คำ
- สัมผัส ใช้การก่ายในอย่างเดียว
แผนผังกลอนอ่านอักษรสังวาส
ตัวอย่าง กลอนอ่านอักษรสังวาส
คันว่า    กายด่านด้าว     เดินฮอดกุมภัณฑ์   เมื่อใด
มันนั้น   ลางลือเขา        ข่าวเซ็งเซิงกล้า
ให้ลูก   สามกษัตริย์เจ้า   เจียมใจจงถี่
          แม่ตื่มถ้อย        แถมต้านแต่ประมาณ ฯ
อันหนึ่ง ลอนจวบพ้อ       อาเอกองค์กษัตริย์  ก็ดี
อย่าได้ จงใจดอม          ดั่งโดยแฮงฮู้
ชาติที่  ใจหญิงนี้          ตลบแปปิ้นง่าย      จริงแล้ว
ฮู้ว่า     ยักษ์บ่แพ้         เขาได้ค่องเคย ฯ
แม่นว่า เดียรสานเซื้อ      ภาษาสัตว์ต่าง     ก็ดี
คันว่า ได้เกือกกั้ว          กันนั้นหากหอม    แม่แล้ว
อันว่า สีหราชท้าว         เจ้าอ่อนสังข์ทอง  ก็ดี
อย่าได้ ไลบาคาน         ให้ค่อยทวนคำเกื้อ กันเนอ ฯ
                                              (สังข์สินชัย)
๔. กลอนอ่านสัพสอดหรือเทียมแอก
กลอนแบบนี้มีลักษณะคล้ายกลอนอื่นๆ ต่างกันที่คำก่าย จะใช้การก่ายในแบบเทียมแอก (ทบแอก)
 เท่านั้น เป็นกลอนที่ไพเราะและแต่งยาก เนื่องจากจะหาคำโทนคู่ที่มีความหมาย ถูกตำแหน่งบังคับ
เอกโท และต้องใช้สัมผัสแบบนี้ทั้งบท (๔ วรรค) จึงจะถือว่าสมบูรณ์
- คณะ เหมือนกับกลอนอ่านอักษรสังวาส
- สัมผัส ใช้คำก่ายในเป็นแบบ "เทียมแอก" คือคำที่ ๕ ก่ายเสียง "โทนคู่" กับคำที่ ๗
(เสียงโทนคู่ คือคำที่มีพยัญชนะต้นเดียวกันหรือเป็นอักษรคู่ มีสระและตัวสะกดเดียวกัน ต่างกัน
เพียงเสียงวรรณยุกต์เท่านั้น เช่น ไกล-ใกล้ งอน-ง่อน ห่อม-ฮอม เป็นต้น)
แผนผังกลอนอ่านสัพสอดหรือเทียมแอก
ตัวอย่าง กลอนอ่านสัพสอดหรือเทียมแอก
หลิงเห็น   ไม้ล่าวล้ม           เลียบฮ่อมเขาฮอม    พุ้นเยอ
             ภูธรเลาะ            เลียบพะนองนำน้อง
             เห็นผากว้าง        เขาคำค้อยค่ำ
ดอยนั้น    อินทร์แต่งตั้ง       เขาเฮื้องฮุ่งเฮือง ฯ
             เล็งภาคพื้น          เป็นฮ่มเฮืองฮม
             พะลานเพียงงาม    ดั่งลานเลียนล้าน
             ทุกประดาก้อน      สุวินทีทุกที่
             ภูวนารถเจ้า         ใจสะล้างฮุ่งหลัง ฯ
             เยื้อนยากท้าว       ทั้งแฮ่งโฮยแฮง
             เดินดอยหลวง       กว่าไกลฤๅใกล้
             เลยเขียวขึ้น         เขางอนมีง่อน
คิดเถิง     คุณแม่ป้า            ปุนไห้ฮ่ำไฮ ฯ
             หลิงดอกไม้         ก้านก่องอินทร์กอง
บาก็        ยินดีผาย            ล่วงซอนซมซ้อน
             ภูธรท้าว             เดินเดียวดั้นเดี่ยว
             ข้ามขอบด้าว        ไปหน้าหน่วงหนา ฯ
ฟังยิน      สกุณาเค้า            งอยคอนฮ้องค่อน   พุ้นเยอ
บางผ่อง   ฮักฮ่วมซู้             ซมก้อยเกี่ยวกอย
             กอยกมเกี้ยว         มือไลซ้อนไหล่
คือดั่ง      สองก่อมซู้            ซมเหง้าส่วงเหงา ฯ
             น้อยดุ่งเท้า           เถิงเหล่าดอนเลา
             ไพรสณฑ์แสน        ด่านกวางดูกว้าง
บาก็        ผายตนดั้น            ดงยางเยื้อนย่าง
คิดเถิง     แม่และป้า             โหยหิ้วหอดหิว ฯ
ฟังยิน      กดกล่าวท้วง        ลางเหล่าดอนเลา   พุ้นเญอ
             ชะนีนงคราญ        ส่งเสียงสูนเสี้ยง
แม้งหนึ่ง   วันสูรย์ด้าว          ดอยหลวงลมล่วง
             พัดเมฆคล้าย        คือม้าล่วงมา ฯ
                                              (สังข์สินชัย)
(หมายเหตุ ข้อมูลนี้ไม่สามารถระบุผู้เขียน เพราะต้นฉบับที่คัดลอกมาไม่พบชื่อผู้เขียน)

วันเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

หน้ากฐินไปเอาบุญนำกันเด้อ

ออกพรรษาหน้ากฐิน ไปเอาบุญ  (ขุนทอง ศรีประจง)
...........วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ขึ้นเจ็ดค่ำเดือนสิบสอง อีกแปดวันก็หมดเขตจีวรกาลคือช่วง
เวลาที่พระภิกษุ หาผ้ามาตัดเย็บจีวรเพื่อผัดเปลี่ยน สมัยก่อนผ้าหายาก จะทำจีวรต้อง หาผ้าที่เขาทิ้งที่หายากมาก เพราะชาวบ้านยากจนใช้ผ้าอย่างประหยัด แต่ที่ป่าช้าหาง่ายหน่อย เพราะประเพณีห่อพันศพด้วยผ้าหลาย ๆ ชั้น ไปทิ้งป่าช้า ไม่ได้เผา สัตว์ป่ากัดแทะศพได้ยากเพราะผ้าพันแน่น จนศพเน่าเปื่อยก็เหลือแต่ผ้าห่อหุ้มโครงกระดูก  พระภิกษุไปแสวงหาผ้า ไปพบก็ช่วยกลบฝังกระดูกให้ แล้วถือเอาผ้าเปื้อนฝุ่น(ปังสุ+กูล)ไปใช้เพื่อทำจีวร ผ้าที่ได้มาเรียกกันว่าผ้าบังสุกุล เวลาเดือนเดียวหลังออกพรรษา สมัยก่อนจึงสำคัญมาก .....สมัยหนึ่งชาวบ้านเห็นความลำบากในการแสวงหาผ้ามาทำจีวร นำผ้าดี ๆ ไปทิ้งไว้ตามป่าช้าหักกิ่งไม้ทับไว้ แสดงให้รู้ว่าเป้นผ้าป่า ที่เขาทิ้งแล้ว พระมาเห็นก็เข้าใจ ชักผ้าบังสุกุลไปใช้ ผ้าป่าสมัยโน้นต้องหาที่ป่ากันจริง ๆ แต่สมัยนี้อยู่วัดผ้าป่าวิ่งไปหาหลวงพ่อเอง เลยไม่ค่อยขลังนัก  
.....จีวรกาลคือ ช่วงกำหนดเวลาสำหรับการหาผ้ามาตัดเย็บจีวรได้ผ้ามาซักล้างสะอาดดีแล้วไปเอาแบบ(กฐิน)มาวัดตัดผ้าเป็นชิ้น ๆ เพื่อเย็บเป้นกระทงเล็ก ๆเป้น แบบห้าขันธ์ เจ็ดขันธ์หรือเก้าขันธ์ตามต้องการ แล้วนำไปจัดการย้อมสีและนำไปผัดเปลี่ยน การหาผ้าใหม่ผัดเปลั้ยนนี้ จะทำให้เสร็จภายใน
หนึ่งเดือนนับแต่วันออกพรรษา จึงเรียนช่วงเวลานี้ว่า "จีวรกาล" ชาวบ้านนิยมหาผ้าไปถวายพระให้ท่านสะดวกในการแสวงหาผ้ามาทำจีวร ด้วยวิธีนำไปวางที่ป่าช้า เพราะพระมักไปแสวงหาผ้าแถวนั้น ปัจจุบันไม่ต้องไปป่าช้าแล้ว แห่ไปถวายที่วัดเลย เรียกว่าภวายผ้าป่า  ช่วงจีวกาลนี้นิยมทำบุญกฐินกัน จุดประสงค์กฐินก็คือหาผ้าไปถวายพระให้ท่านทำจีวรได้สะดวก
.......ไปทำบุญกฐินได้บุญมาก เข้าใจยังไม่ถูกดีนัก การทำบุญทุกชนิด ต้องมีการ"ทำ"ก่อนจึงจะมีบุญสำนวนชาวบ้านบอก ไปเอาบุญ คือการไปตักตวง หยิบ หิ้ว ถือ แต่ความจริงบุญต้องทำเองคนอื่นทำให้ไม่ได้บุญ ขนาดทำบุญแจกข้าว เขายังเจาะจงให้ญาติผู้ล่วงลับ ไม่ใช่ญาติก็ยากที่จะอนุโมทนารับบุญได้ อ้างเปรตญาตพระเจ้าพิมพ์สาร มารอรับส่วนบุญ ก็อนุโมทนารับไม่ได้ จนพระพุทธเจ้าแนะนำว่าทำบุญแล้วให้อุทิศบุญแห่ญาติผู้ล่วงลับไป พระเจ้าพิมพิสาร ถวายสังฆทานใหม่คราวนี้ไม่ลืมอุทิศบุญให้ญาติผู้ช่วงลับไปแล้ว เปรตญาตก็อนุโมทนารับส่วนบุญกุศลได้ ตกกลางคืนมาเข้าฝันมีเครื่องแต่งกายเป็นทิพย์ ขอบคุณพระเจ้าพิมพ์พิสารแล้วจากไป ไปไปเอาบุญกับเพื่อนบ้าน ไปอนุโมทนาเอาบุญแบบเปรตญาติพระเจ้าพิมพิสารคงไม่ได้ผลหรอก เราไม่ใช่เปรตนี่นา ต้องทำบุญเองถึงจะได้ ทำทานมัยบ้าง สีลัยบ้าง และทภภาวนามัยบ้าง แค่นี้ก็ได้บุญแล้วที่ว่า ไปเอาบุญจึงจะได้บุญกลับบ้าน
.....ไปเอาบุญกฐิน ตามคำชวนของเพื่อนบ้านทำอย่างไรจะได้บุญมาก ๆ ก็อย่างที่เล่ามาแล้วบุญที่เขากองไว้ต้องรู้วิธีหยิบเอาบุญ มีทรัพย์ไปบริจาคหน่อย คือทานมัย บุญก็ได้แล้วไหว้พระรับศีล ภานามัยและสีลมัย ก็เกิดบุญ สองอย่างนี่ต้องทำแบบรู้จักนะถึงจะได้บุญ ถ้าสักแต่ว่าทำ ๆไปกะเขา อาจไม่ได้อะไร  อย่างไหว้พระก็ระลึกคุณพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ว่ามีคุณต่อเราอย่างไร เราปฏิบัติตนอย่างไรจึงได้คุณประโยชน์จากการนับถือ แบบนี้เรียกว่าไหว้แล้วได้บุญ ทำภาวนามัยลองหาดูมีเทศน์ไหม ฟังเทศน์ภาวนามัยเกิดง่าย ได้สติปัญญาง่ายความฉลาดหรือสติปัญญาคือบุญเกิดจากภาวนามัย นั่งฟังเทศน์สามสิบนาที แต่ไม่รู้ว่าพระเทศน์อะไรให้ฟัง บุญก็ไม่เกิดเสียเวลาเปล่า ผมไปงานกฐินได้คุยกับทายกสอบภามว่าได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว อะไรยังไม่ได้ทำ ฟังแล้วก็ทบทวนดูหลักการทำบุญกฐิน ความฉลาดก็กลับมานี่ก็บุญคือสติปัญญา เหมือนบุญจากการภาวนานั่นเอง
......เล่ามายาวมากแล้วขอสรุปสั้น ๆว่า ไปเอาบุญตามตัวอักษร ไม่มีหรอก เพราะบุญต้องทำจึงจะได้บุญ ไปถึงงานกฐิน ทำทานมัยบริจาค ๒๐ บาท นี่ก็บุญ ก่อนเทศน์พระให้ศีลตั้งใจรับให้ดี ถือศีลแล้ว บุญจากสีลมัย ก็จะตามมา พระเทศน์เรื่องอะไร เข้าใจ ๆไหม มีอะไรเชื่อได้ ไม่น่าเชื่อ ไม่ต้องกลัวบาป พระเทศอะไรเชื่อหมด บางทีพระก็ไม่รู้หรอก ว่ากันตามตำรา เช่นทำบุญแล้วไปรับชาติหน้า ถามว่าจริงไหมหลวงพ่อ โดนเคาะกระลาสิ พระตอบไม่ได้ ถามผมตอบได้ง่าย ๆ ทานมัย โลภลดลง ทาน ๒๐ บาท ลดความโลภราคา ๒๐ ลดมันชาตินี้แหละ เวลาพระบอกอานิสงส์ศีล ก็ชัดเจนดีนี่นา  สีเลนสุคติงยันติ ดำเนินชีวิตแบบมีสุคติ คือมีความเป็นอยู่อย่างสงบสุข ก็ชาตินี้แหละ  สีเลนโภคสัมปทา ศีลทำให้ไม่ฟุ่มเฟือย สะสมโภคสมบัติได้ดี นี่ก็ชาตินี้เหมือนกัน  ตัสมาสีลัง วิโสธเย  ดังนั้นจงชำระศีลให้บริสุทธิ์ซะทำชาตินี้แหละ ไม่มีตรงไหนบอกให้ไปรับชาติหน้า หรือให้ไปทำชาติหน้า สรุปยาวไปแล้ว เหลือภาวนามัยการอบรมให้เกิดสติปัญญา สติปัญญาคือบุญจากภาวนามัย ภาวนาแล้วต้องได้สติปัญญาความฉลาดถึงจะเรียกว่าได้บุญ ยิ่งภาวนายิ่งงมงาย บุญไม่เกิดซักที เสียเวลาเปล่า ๆดูส่งลูกหลานไปเรียนสิ นั่นแหละไปอบรมสอบตกแล้วตกอีก เพราะไม่ได้ปัญญาถึงเกณฑ์ สอบตกเป็นว่าเล่น ถ้ามันภาวนามัยสำเร็จ เดี๋ยวก็จบประถม จบมัธยม จบอุดมศึกษา จบชาตินี้นะ ลูกคนไหนบอกภาวนามัยประถมมัธยมแล้ว จะไปจบรับวุฒิบัตรชาติหน้า โดนแน่